รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567
เศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงปีก่อน เฟดเริ่มพิจารณาการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคาดการณ์ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐยังคงรักษาการเติบโตได้ในเชิงบวกและมีความแข็งแกร่งกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ซึ่งสะท้อนผ่านตลาดแรงงานที่ตึงตัวรวมถึงการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงช้ากว่าที่ตลาดคาด และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจาก 114.8 ในเดือนมกราคม 2567 เป็น 106.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ส่วนเศรษฐกิจจีนแสดงสัญญาณของการฟื้นตัวเล็กน้อยและอาจผ่อนคลายภาวะเงินฝืด แต่การฟื้นตัวยังคงอ่อนแอและมาตรการธนาคารกลางจีน (PBOC) ล่าสุดจะส่งผลกระทบอย่างจำกัด
ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 การส่งออกของไทยมีการขยายตัวที่ 3.6% เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ส่งออกสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมขยายตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก อยู่ที่ร้อยละ 0.43 (YoY) ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ลดลงร้อยละ 0.77 (YOY) อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทย และยังต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบอย่างใกล้ชิดต่อไป
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 90.0 จาก 90.6 ในเดือนมกราคม 2567 เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ ปัญหาการแข่งขันด้านการตลาดสูงขึ้น ต้นทุนด้านราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาความขัดแย้งบริเวณทะเลแดงที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งมีมาตรการ Easy e-receipt ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยววีซ่า-ฟรี (Visa-Free) และมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร (1 มกราคม-31 มีนาคม) เป็นปัจจัยสนับสนุน ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปรับตัวลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 54.2 จากระดับ 54.5 ในเดือนก่อนหน้า
สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ส่งออกมูลค่า 23,384.86 ล้านเหรียญสหรัฐ (827,139 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.62 (YoY) เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 23,938.85 ล้านเหรียญสหรัฐ (856,508.11 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.16 (YoY) ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 553.99 ล้านเหรียญสหรัฐ (29,369.08 ล้านบาท) (อ้างอิง: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูลเบื้องต้น ปี2567)
พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 67 ปรับเพิ่มขึ้น 4.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ 447.2 ล้านบาร์เรล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูงเนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิศาสตร์ทั้งในฝั่งภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออก ในด้านสถานการณ์ในยุโรปยังมีความตึงเครียดเช่นเดียวกัน เนื่องจากต้องจับตามาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ของสหรัฐฯ ต่อรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงต่อไป หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าคาด ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 78.26 และ 83.62 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ราคายางภาพรวมภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นในทิศทางเดียวกับราคายางในตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในเดือนที่ผ่านมา เนื่องด้วยสภาพอากาศและปัญหาโรคใบร่วง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย แต่ความต้องการใช้ยางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปริมาณ 397,643 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2.14 หมื่นล้านบาท ส่วนยางล้อในเดือนเดียวกันนี้ ไทยส่งออกยางล้อ 11.4 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2.05 หมื่นล้านบาท
กลุ่มยานยนต์: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีทั้งสิ้น 133,690 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ร้อยละ 19.28 และลดลงจากเดือนมกราคม 2567 ร้อยละ 5.92 โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จำนวน 86,762 คัน เท่ากับร้อยละ 64.90 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ร้อยละ 9.26 และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จำนวน 46,928 คัน เท่ากับร้อยละ 35.10 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ร้อยละ 32.96 ส่วนยอดขาย รถยนต์ภายในประเทศของเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 52,843 คัน
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|