รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน 2567
เศรษฐกิจโลกปี 2567 เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงสูง โดยเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากการปรับตัวลงของดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการ ขณะที่จีนขยายมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ยังต้องให้ความระมัดระวังต่อสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่อาจสร้างความผันผวนต่อทิศทางราคาพลังงานและเงินเฟ้อในระยะต่อไป และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจาก 104.7 ในเดือนมีนาคม 2567 เป็น 97.0 ในเดือนเมษายน 2567 ส่วนเศรษฐกิจจีนนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงมีจำกัด
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2567 นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงกล่าวกำหนดเป้าหมายเศรษฐกิจปี 2567 ของจีนต่อที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ชุดที่ 14 ครั้งที่ 2 สรุปสาระสำคัญดังนี้ GDP จะขยายตัวประมาณร้อยละ 5 ซึ่งเท่ากับเป้าหมายเศรษฐกิจของปี 2566 โดยระบุว่าเป้าหมายดังกล่าวได้คำนึงถึงปัจจัยจากภายในประเทศและภายนอก รวมถึงความต้องการส่งเสริมการจ้างงาน และจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ แสดงสัญญาณของการฟื้นตัวเล็กน้อยและอาจผ่อนคลายภาวะเงินฝืด แต่การฟื้นตัวยังคงอ่อนแอและมาตรการธนาคารกลางจีน (PBOC) ล่าสุดจะส่งผลกระทบอย่างจำกัด
ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว ในเดือนมีนาคม 2567 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.37 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เดือนมีนาคม 2567 ลดลงร้อยละ 0.47 (YOY) โดยสาเหตุสำคัญของการลดลงเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงานของภาครัฐยังคงดำเนินการอยู่ ได้แก่ การตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทย และยังคงต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนเมษายน 2567 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.9 จากระดับ 54.1 ในเดือนก่อนหน้า
สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ส่งออกมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (827,139 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 (YoY) เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 23,938.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (856,508 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 (YoY) ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 554.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (29,369 ล้านบาท) และในเดือนมีนาคม 2567 ส่งออกมูลค่า 24,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (892,290 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 10.9 (YoY) เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 26,123.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (944,828 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 5.6 (YoY) ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 1,163.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขาดดุล 52,538 ล้านบาท) (อ้างอิง: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูลเบื้องต้น ปี2567)
พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 29 มีนาคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3.2 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 451.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล และตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯในเดือนเมษายน 2567 ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 26 เมษายน 2567 ปรับเพิ่มขึ้น 7.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับที่ 460.9 ล้านบาร์เรลราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนจากผลกระทบความกังวลด้านอุปทาน เนื่องจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางยังคงตึงเครียด โดยนายเบนจามิน เนทัน ยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลกล่าวว่า อิสราเอลจะยังคงดำเนินการตามแผน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดัน จากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 34 ปี เมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 83.85 และ 89.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนมีนาคม 2567 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ราคายางภาพรวมภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นในทิศทางเดียวกับราคายางในตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในเดือนที่ผ่านมา เนื่องด้วยปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย แต่ความต้องการใช้ยางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ จากกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น กอปรกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง แต่ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 มีการปรับตัวลดลงซึ่งสอดคล้องกับตลาดล่วงหน้าต่างประเทศที่มีการย่อตัวลงมาเช่นกัน แต่ภาพรวมยังคงอยู่ในแนวโน้มที่ดี ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2567 ปริมาณ 397,643 ตัน และ 376,699 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2.14 และ 2.17 หมื่นล้านบาทตามลำดับ ส่วนยางล้อในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2567 ไทยส่งออกยางล้อ 11.4 และ 13.3 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2.05 และ 2.39 หมื่นล้านบาทตามลำดับ
กลุ่มยานยนต์: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมีนาคม 2567 มีทั้งสิ้น 138,331 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2566 ร้อยละ 23.08 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ร้อยละ 3.47 โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกในเดือนมีนาคม 2567 จำนวน 91,808 คัน เท่ากับร้อยละ 66.37 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมีนาคม 2566 ร้อยละ 9.09 และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในเดือนมีนาคม 2567 จำนวน 46,523 คัน เท่ากับร้อยละ 33.63 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมีนาคม 2566 ร้อยละ 41.01 ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมีนาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 56,099 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ร้อยละ 6.16 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 29.83 จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินจากหนี้ครัวเรือนที่สูงมากและเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|