E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  มิถุนายน 2567 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนมิถุนายน 2567

เศรษฐกิจโลกปี 2567 เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรายได้ต่ำ-ปานกลางอ่อนแรงลง อีกทั้ง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 1-2 ครั้งในปีนี้ สำหรับดัชนีผลผลิตรวมทั่วโลกปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ซึ่งดัชนีผลผลิตการผลิตและบริการทั่วโลกอ่อนตัวลงเช่นเดียวกับดัชนีผลผลิตรวมของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ และจากความกังวลสงครามการค้ารอบใหม่นี้ ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปีเช่นกัน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ (Consumer Confidence Index: CCI) มีการปรับตัวลดลงจาก 101.3 ในเดือนพฤษภาคม 2567 เป็น 100.4 ในเดือนมิถุนายน 2567 และในส่วนภาคการบริโภค การผลิต และการลงทุนของจีน ยังคงมีความเสี่ยง ขณะที่วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 0.36 (YoY) ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนพฤษภาคม 2567 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.39 (YoY) ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เดือนมิถุนายน 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.62 (YoY) โดยสาเหตุสำคัญจากค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้าตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อภาคการเกษตรมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนมิถุนายน 2567 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.3 จากระดับ 52.4 ในเดือนก่อนหน้า

สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนพฤษภาคม 2567 ส่งออกมูลค่า 26,219.48 ล้านเหรียญสหรัฐ (960,220.44 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.20 (YoY) เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 25,563.33 ล้านเหรียญสหรัฐ (947,006.51 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 1.66 (YoY) ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 656.15 ล้านเหรียญสหรัฐ (13,213.93 ล้านบาท) และในเดือนมิถุนายน 2567 ส่งออกมูลค่า 24,796.59 ล้านเหรียญสหรัฐ (892,766.41 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 0.30 (YoY) เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 24,578.54 ล้านเหรียญสหรัฐ (895,256.10 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.32 (YoY) ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 218.05 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขาดดุล 2,489.69 ล้านบาท) (อ้างอิง: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูลเบื้องต้น ปี2567)

พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2567 ปรับตัวลดลง 12.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 448.5 ล้านบาร์เรล และอุปสงค์มีแนวโน้มชะลอตัวลงก่อนที่จะถึงวันหยุดเนื่องในวันชาติสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ราคายังคงมีแรงกดดันจากภาคเศรษฐกิจโลก โดยล่าสุดตัวเลขในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ยังคงไม่ได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน หลังสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ (The Conference Board: CB) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน 2567 ปรับลดลงจาก 101.3 ในเดือนพฤษภาคม 2567 เป็น 100.4 ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 81.54 และ 84.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ยางพารา: ในเดือนมิถุนายน 2567 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ราคายางภาพรวมภายในประเทศมีความผันผวนและมีการปรับย่อตัวลงสอดคล้องกับสถานการณ์ราคาตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ เนื่องด้วยสภาพอากาศ และเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูเปิดกรีด ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2567 ปริมาณ 331,946 และ 293, 771 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2.09 และ 1.85 หมื่นล้านบาทตามลำดับ ส่วนยางล้อในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2567 ไทยส่งออกยางล้อ 12.1 และ 11.4 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2.12 และ 2.05 หมื่นล้านบาท

กลุ่มยานยนต์: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีทั้งสิ้น 126,161 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2566 ร้อยละ 16.19 โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 88,808 คัน เท่ากับร้อยละ 70.39 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2566 ร้อยละ 1 และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในเดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 37,353 คัน เท่ากับร้อยละ 29.61 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2566 ร้อยละ 38.57 ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพฤษภาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 49,871 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2567 ร้อยละ 6.70 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 23.38 จากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงินและเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวในระดับต่ำจากความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 


หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com